อัตรลักษณ์ลำพูน

 

ศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่ ลำพูน

 

 

 

 

 

 

 

 

จากประวัติความเป็นมา พอสังเขป กล่าวเล่าขานกันว่า บริเวณที่ตั้งศาลเจ้าหลัก เมืองเชียงใหม่ ลำพูน เป็นที่ตั้งของวัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ วัดนางเหลียว ปัจจุบันยังปรากฏซากอิฐซากปูนของบริเวณ ซึ่งเป็นแนวเขตกำแพงฐานวิหารและเจดีย์วัดเพียงแต่ว่าอยู่ลึกลงไปใต้ดิน ประมาณ 1 เมตร ที่ผ่านมาคณะนักสำรวจจากกรมศิลปากรร่วมกับประชาชนที่อาศัยอยู่ทั้งสองฝั่ง เชียงใหม่ - ลำพูน ได้ร่วมกันขุดสำรวจ และพบซากดังกล่าวอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม การขุดสำรวจก็มีอันต้องหยุดอย่างถาวรไว้เนื่องมาจากว่าเมื่อขุดต่อไปอีก กรมศิลปากรก็จะกำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ไว้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชน ที่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณวัดร้าง รวมทั้งถนนที่ใช้สัญจรกันทุกวัน

ศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่ ลำพูน

ดัง นั้นคณะนักสำรวจและประชาชนทั้งสองฝั่งจึงเห็นพ้องต้องกัน ให้หยุดการขุดสำรวจไว้ และให้มีการดูแลรักษาร่วมอนุรักษ์อาคารสถานที่ตั้งศาลหลักเมืองแห่งนี้ไว้ เฉกเช่นปัจจุบันนี้ ศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่ ลำพูน มีความเป็นมาอย่างไร จากที่ได้สอบถามผู้สูงอายุและผู้รู้ทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ประกอบกับเมื่ออยู่ในวัยเด็กก็ได้ฟังจากพ่อแม่เล่าให้ฟัง ซึ่งสรุปพอสังเขป ดังนี้ เริ่มต้นจากเจ้าหลวงเมืองลำพูนขณะนั้น ชื่อ เจ้าอนันตยศ และ เจ้ามหันตยศ ได้ออกเดินทางจากเมืองลำพูนมาทางทิศเหนือ เพื่อต้องการหาแนวเขตแดนสิ้นสุดของเมืองลำพูน ว่าสมควรจะอยู่บริเวณใดถึงจะเหมาะสม ซึ่งเจ้าหลวงเมืองลำพูน ได้นั่ง ช้างพัง ชื่อ ช้างปู้กล่ำงาเขียว และขณะนั่งช้างมานั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่ช้าง ปู้กล่ำงาเขียว ได้หยุดพักบริเวณวัดร้าง คือวัดนางเหลียวแห่งนี้ไม่ยอมเดินทางต่อไปเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เจ้าหลวงเมืองลำพูน จึงกำหนดให้เลือกบริเวณวัดร้างแห่งนี้ เป็นแนวเขตแบ่งระหว่างเมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่ โดยเจ้าหลวงเมืองลำพูนได้ใช้ไม้เนื้อแข็งปักเป็นเขตแดนไว้ ต่อมาไม้เกิดการผุกร่อนเนื่องจากถูกแดดถูกฝน เจ้าหลวงจึงสั่งการให้เกณฑ์นักโทษจากเมืองลำพูนจำนวนหนึ่งให้มาช่วยก่อสร้าง โดยใช้วัสดุ คือ ดินเผาและปูนขาว มาโบกแทนหลักไม้เนื้อแข็งเดิม แล้วให้เขียนเป็นสัญลักษณ์ว่า หลักเขตแดนเมือง เชียงใหม่ ลำพูน

ต่อ จากนั้น ก็สั่งให้นักโทษนำกล้าต้นไม้ คือ ต้นขี้เหล็ก มาปลูก เริ่มจากบริเวณเขตแดนของเฉพาะเมืองลำพูน โดยปลูกทั้งสองฝั่งถนน เพื่อแสดงให้รู้ว่า ฝั่งถนนที่เป็นต้นขี้เหล็กนั้นคือ เขตของเมืองลำพูน ส่วนเมืองเชียงใหม่ ก็มีการปลูก ต้นยาง เป็นสัญลักษณ์ ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ต่อจากนั้นเป็นต้นมาพี่น้องประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณทั้งสองฝั่ง คือ ลำพูน และเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นวงศาคณาญาติกัน ตลอดจนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็ได้ร่วมกัน บูรณะ ซ่อมแซม ตกแต่ง ก่อสร้างศาลาเอนกประสงค์ มีการอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐาน คือ พระศรีสองเมือง และที่สำคัญ มีการทำพิธีปั้นรูปช้างที่เจ้าหลวงลำพูนใช้เป็นพาหนะเดินทาง คือ ช้างปู้กล่ำงาเขียว ซึ่งจะเห็นปรากฎโดดเด่นใกล้กับเสาหลักเมืองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ยังคงเป็นโบราณ สถานที่สำคัญเป็นที่เคารพ สักการะของพี่น้องประชาชน ทั้งสองฝั่ง รวมทั้งพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่มีโอกาสเดินทางผ่านมา เส้นทางถนนเชียงใหม่ ลำพูน ก็จะต้องแวะสักการะ เพื่อเป็นสิริมงคล ขอให้มีโชค คลาดแคล้วจากศัตรู ภัยพิบัติ การเดินทางสวัสดิภาพปลอดภัย ซึ่งก็สุดแต่จะขอ หรือ อธิษฐานประการใด ๆ เพื่อให้เทพเจ้าได้ดลบันดาลให้พบแต่ความสุขความเจริญและอื่น ๆ ประเพณีหนึ่ง ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งจะร่วมกันยึดถือสืบทอดกันมาหลายปี ก็คือ ประเพณีทำบุญประจำปี ศาลเจ้าหลักเมืองเชียงใหม่ ลำพูน นอกจากนี้พี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่งแล้ว หน่วยงานราชการ ท้องถิ่น ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมอนุรักษ์ สืบทอดประเพณี กล่าวคือ ทางฝั่งลำพูนได้แก่ เทศบาลตำบลอุโมงค์ ส่วนฝั่งของเชียงใหม่ ได้แก่ เทศบาลตำบลสารภี

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทความของฉัน